top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPeerapong Promchart

Housescape and Critical times : Michel Foucault

อัปเดตเมื่อ 21 เม.ย. 2022

This article is a part of the History and Critical in Architecture's talks between Peerapong Promchart and Sant Suwatcharapinun. in April 2017



พีระพงษ์ พรมชาติ : ถอดเทป และเรียบเรียง ร่วมกับ สันต์ สุวัจฉราภินันท์

20 april 2017


ตลอดระยะเวลา 2-3 ทศวรรษ ในแวดวงที่เกี่ยวกับสังคมวิทยา มานุษยวิทยา นักคิด นักทฤษฎีที่มีคนพูดถึงมากที่สุด มีคนนำแนวคิดมาพัฒนาต่อมากที่สุดคนหนึ่ง คือ Michel Foucault (1926-1984) ก่อนที่จะอ่านวิธีคิดต่างๆ ของเขา เราควรจะเข้าใจพื้นฐานในแต่ละช่วงชีวิตของ Foucault ประกอบไปด้วยเพื่อจะได้เข้าใจเหตุและผลในการทำงานของเขา

Foucault เกิดในชนชั้นกระฎุมพีของฝรั่งเศส พ่อเป็นหมอ และตั้งใจจะให้เขาเป็นเด็กร้องเพลงในโบสถ์และเจริญรอยตามพ่อ คือไปเป็นหมอ แต่ Foucault ปฏิเสธอย่างขันแข็งมาโดยตลอด ในห้องนอนของเขาเต็มไปด้วยภาพเขียนเกี่ยวการทรมานของ Francisco Goya และการที่เขาพยายามฆ่าตัวตายถึง 2 รอบจากการที่พ่อเขาพยายามบีบบังคับให้ไปเป็นหมอ หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปสถาบันจิตเวช เพื่อวินิจฉัยโรค ที่นั่นเอง Foucault ได้รับการอธิบายว่าตัวเขาเก็บงำความเป็น homosexual ไม่ยอมให้คนอื่นรู้ ทำให้เขาแสดงออกมาในรูปแบบของการต่อต้านระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ทั้งพ่อและสังคมกระฎุมพีฝรั่งเศสต้องการป้อนให้



ภาพวาดของ Goya

ภาพจาก : http://www.huffingtonpost.com/g-roger-denson/torture-and-terror-in-art_b_2600028.html


หลังจากนั้นเขาได้ไปพบเจอตัวเองในโลกของ “เกย์” และเริ่มเปิดตัวเองกับผู้ชายคนอื่น จนกระทั่งเดินทางไปอยู่นอกฝรั่งเศส และพบเจอหนังสือของ Nietzsche(1844-1900) ที่ว่าด้วยการอ่านประวัติศาสตร์ เขาจึงเริ่มทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก และตั้งคำถามกับสถาบันต่างๆ ที่สร้างประวัติศาสตร์หล่านั้นขึ้นมา

“Madness and civilization”(1961) เป็นหนังสือเล่มแรกของเขา และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษหลังจากนั้นอีก 3 ปี ในเล่มนี้สิ่งที่ Foucault เน้นย้ำคือ การโจมตีวิธีคิดที่ว่าด้วยคนบ้า ซึ่งตัวเขาเองก็เคยโดยอธิบายแบบนี้เช่นเดียวกัน เขาตั้งคำถามหนักๆ ในหนังสือเล่มต่อมาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ “The Birth of the Clinic: An Archaeology of Medical Perception” (1963 แปลอังกฤษ 1973) “The Order of Things: An Archaeology of the Human Sciences” (1966 แปลอังกฤษ 1970) “The Archaeology of Knowledge” (1969) แต่ช่วงเวลาที่ Foucault เป็นที่รู้จักคือช่วงตั้งแต่ 1970 เป็นต้นมา เพราะเริ่มถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยส่วนหนึ่ง และยังมีช่วงทศวรรษ 1970 ก็มีงานเขียนดังๆ ออกมาต่อเนื่องเช่น “Discipline and Punish: The Birth of the Prison” (1975 แปลอังกฤษ 1977) และ “The History of Sexuality” (เริ่มเขียน 1976 จนตายก่อนเขียนจบ 1984) ที่เริ่มเขียนถึง 3 volume


หากจะมองเปรียบเทียบกันแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวของ Foucault คือตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1980 เป็นช่วงที่แวดวงศิลปะและสถาปัตยกรรมก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองทางความคิด มีการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ที่พร้อมจะแยกขาดจาก modernism ทั้งงานของ Eisenman ที่เป็นบ้านชุดทั้งหลาย ทั้งงานเขียนของ Venturi ที่เป็นคัมภีร์ทางสถาปัตยกรรมทั้ง 2 เล่ม รวมไปถึงในเชิงสังคมศาสตร์ก็อยู่ในช่วง transition period เกิดการตั้งคำถามกับสงครามเวียดนาม และการเกิดขึ้นของ Multinational Capitalism เป็นเรื่องของ Consumer Societies เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของ Radical Individualism ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เป็นช่วงของ Revolution ทำให้งานของ Foucault ยิ่งถูกกระพือ แซ่ซ้องไปไกล เพราะมันเป็นงานที่ตั้งคำถามและปฏิวัติในเชิงวิชาการ

“ Why Foucault?? ”

Foucault พยายามตั้งคำถามกับแบบแผนของ modern society ซึ่งเป็นหัวใจหลักในงานของเขา เขาโจมตีผลผลิตที่เกิดขึ้นจาก modern society โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่มากับคำว่า “สถาบัน” เพราะสถาบันเหล่านี้เอื้อและสนับสนุนอำนาจที่ลงไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Foucault คือ เขาอยู่ในร่มใบเดียวกันกับ Derrida นั่นคือ สำนักคิดสายโครงสร้างนิยม แต่เขาก็ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างนิยมอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งที่เขาพยายามจะทำคือ ไม่เชื่อในระบบทางภาษา แต่พยายามจะทำลายมัน จึงกลายเป็นว่า Foucault อาศัยอยู่ทั้งโครงสร้างนิยม และหลังโครงสร้างนิยมด้วย

วิธีการที่ Foucault เข้าไปเจอภาษา แตกต่างจากสิ่งที่ Derrida เจอ นำมาซึ่งวิธีคิดของเขา คือคำว่า “Discourse” และ “Discursive Formation” คู่กัน ทำไมเราต้องรู้จักคำเหล่านี้ในวิธีคิดของเขา? ตัวอย่างเช่น รูปหญิงสาวคนหนึ่งในยุควิคตอเรี่ยน พื้นที่ที่เรียกว่า กรุงลอนดอนยุดวิคตอเรี่ยนจะบอกกับเธอว่าต้องแต่งตัวแบบนี้ หลังจากนั้นก็จะมีอีกพื้นที่หนึ่งซ้อนทับเข้ามาคือ พื้นที่ของชนชั้นสูงในลอนดอนบอกกับเธอว่าจะต้องวางตัวแบบนี้ และมีอีกพื้นที่หนึ่งซ้อนเข้ามาและซ้อนเข้ามาเรื่อยๆ จนตัวตนของเธอเริ่มจางหายไป ความหมายตรงนี้ คือสิ่งที่ Foucault เจอ เขาบอกว่าการที่เราเป็นเราในทุกวันนี้มันเกิดขึ้นจากการซ้อนทับกันของพื้นที่อะไรบางอย่าง และพื้นที่ตรงนี้มันคือพื้นที่สมมติ เราล้วนถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการต่างๆ ทางสังคมทับถมซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ขึ้นมาเป็นตัวเรา จึงมีคำว่า body คือผลผลิตของวาทกรรม และคนใน modern society ล้วนแล้วถูกสร้างโดยวาทกรรม


วาทกรรม ( Discourse ) คืออะไร?


มันคือเงื่อนไขทางภาษา แต่เป็นมากกว่าเรื่องของภาษาเพียงอย่างเดียว มันมีความหมายเชิงวัฒนธรรมซ่อนอยู่เสมอเมื่อถูกเอ่ยหรือเปล่งเสียงออกมา มันเป็นโครงข่ายของภาษาที่คอยกำหนดสร้างความหมาย ซึ่ง Foucault เจอกับตัวเอง ทั้งถูกชี้ว่าเป็นคนบ้า เป็น homosexual เท่ากับเป็นคนไม่ดี เพราะคนในสมัยนั้นมองว่าพวกรักร่วมเพศเป็นคนบาป

สิ่งที่ Foucault พยายามจะทำคือ ปลอกเปลือกวาทกรรมออก ตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของอะไรบ้าง วิธีการที่ Foucault ปอกเปลือกออกนี้เรียกว่า “Discursive Formation” เขาหันกลับไปอ่านงานประวัติศาสตร์ทั้งหมดใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ และนำมาซึ่งการเจอประเด็นใหม่ๆ อาทิเช่น คำว่า “บ้า” ในสมัยก่อนไม่ได้เรียกว่า madness แต่เรียกว่า different คือความแตกต่าง โดยสมัยก่อนไม่ได้เอาความแตกต่างไปอยู่ในสถานที่จองจำ แต่เอาความแตกต่างนี้อยู่ในสังคมได้ เพราะความแตกต่างนี้จะทำให้เห็นข้อจำกัดของเหตุผลของคนในสังคมสมัยนั้น ขณะเดียวกันใน modern society กลับจำกัดที่ให้คนบ้าอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ตรงนี้จึงให้ให้ Foucault เห็นอะไรบางอย่างที่มากไปกว่า Discourse เขากลับไปมองประวัติศาสตร์ที่เป็นตัว histories ไม่ใช่ History เขาไม่ได้สนใจการบันทึกประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ใช้ประวัติศาสตร์มารองรับข้อโต้แย้งของตนเอง ดังนั้นเขาจึงข้ามสายสกุลความคิดไปสู่ Philosophy of History

Foucault ไม่เชื่อการเขียนตามช่วงเวลา เพราะว่าบางครั้งเหตุการณ์บางเหตุการณ์เกิดขึ้นนานมาก แต่วิธีคิดบางอย่างมันก้าวข้ามช่วงเวลา และการเรียงตามเวลาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงและเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เขาสนใจคือการเติมเต็มการตีความประวัติศาสตร์ คือไม่ได้ลบล้างประวัติศาสตร์ แต่ชี้ทางให้เห็นชิ้นส่วนอื่นๆ ของประวัติศาสตร์นั้น เขาทำงานเหมือนนักโบราณคดี ที่ขุดปัดซากกระดูกขึ้นมาแล้วจินตนาการว่ามันเดินอย่างไร มันอยู่ส่วนไหนของลำตัว ใช้ข้อมูลบางอย่างมาประกอบร่วมกับการตีความ ตรงนี้ Foucault จึงเปลี่ยนคำว่า History เป็นคำว่า Archaeology หรือโบราณคดี และมองชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันมหาศาลใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อนักประวัติศาสตร์อีกต่อไป

ต่อมา Foucault เริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” ต่างๆ ที่ถูกเขียนออกมา และคนส่วนใหญ่เชื่อมัน แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่าง ที่อยู่นอกเหนือจากความรู้ สอดคล้องกับสิ่งที่ Lyotard กล่าวไว้ว่ามันคือ grand narrative ของ mega structure ที่คลุมเราอยู่ เพราะถ้าเราต้องการรู้ความจริงอื่นๆ เราต้องหนีออกจากชุดความจริงใหญ่ๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกับ Derrida ก็บอกว่าให้หนีออกจากโครงสร้างเดิมทางภาษา เพราะสิ่งเหล่านี้แบ่งแยกสิ่งที่ควรรู้กับสิ่งที่ไม่ควรรู้ออกจากกัน modernism คอยชี้คอยกำหนด normality ของสังคม อะไรที่อยู่นอกเหนือจากนี้จะถูกจองจำ Foucault เรียกสังคมแบบนี้ว่า Discipline หรือสังคมของการทำให้เชื่อง เขาจึงพยายามไปปลดเปลื้องพันธนาการเหล่านั้นออก

Foucault จึงเชื้อเชิญเราให้เข้าไปตรวจสอบ normality ในทุกๆ แขนง เช่น อะไรคือความบ้า? / โรงเรียนดัดสันดาน / การคัดลายมือ / คุก / โรงหนัง / พื้นที่สาธารณะ / มุมมืดของสังคมเมือง เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลอีกด้านของการผลิตสร้าง normality ในสังคมนั้นๆ แต่จุดมุ่งหมายของ Foucault ในการทำแบบนี้ก็ถูกตีความได้หลายแบบ แบบหนึ่งก็คือ ต้องการสร้างความวุ่นวายในสังคมหรือ? หรือต้องการสำรวจกลุ่มคนที่ควบคุม normality ว่ากำลังใช้วิธีอะไรในการควบคุมมัน?

ดังนั้นคนที่นำงานของเขาไปใช้นอกเหนือจากกลุ่มแนวทางสุดโต่งแล้ว การเอา Foucault มาใช้ในการต่อรองเชิงวิชาการก็มีอย่างมากมาย อาทิเช่น กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี (Feminism) ที่หยิบเอางานเขียนเรื่อง sex (เครื่องเพศ) gender (สถานะทางสังคม) ของ Foucault มาใช้ คำถามสำคัญของกลุ่มนี้คือ ถ้า gender มันถูกสร้างขึ้นมาและถูกมอบให้ อย่างกรณีของการแยกความเป็นชายและความเป็นหญิงออกจากกันด้วยระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ความหมาย gender ของมันคือ ความแข็งแรง และจะได้ค่าจ้างมากกว่า เพราะเชื่อว่าคนที่แข็งแรงจะสามารถตอบสนองกับการผลิตได้มากกว่า ผู้หญิง ที่ความหมาย gender คือความอ่อนโยน ต้องเรียบร้อย อยู่บ้านดูแลสามีและลูก ตรงนี้เองที่กลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องว่าทำไมจะต้องมารับบทบาทของความเป็นหญิง ทำไมผู้หญิงถึงเข้มแข็งแบบผู้ชายไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ชายก็ออกมาบอกว่าทำไมผู้ชายต้องผู้ติดกับภาพของความแข็งแรงตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นในมุมมองเชิง sexuality ของ Foucault เขาจึงไม่ตีตราไม่ว่าจะของที่มีอยู่เดิม หรือเครื่องหมายอื่นๆ ที่จะถูกสร้างขึ้น แต่เขาต้องการพาเราหนีออกจากบทบาทอะไรบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นและหยิบยื่นให้ ซึ่งมันคือ Discourse

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีผู้ชายคนหนึ่ง อยู่ในร่างของผู้ชาย และอึดอัดมาก พอได้ไปจับถุงน่องของผู้หญิงทำให้รู้สึกดีกับตัวเองมาก จนกระทั่งเขาเลือกที่จะสวมชุดผู้หญิงเข้าไป และเลือกที่จะไปผ่าตัดแปลงเพศ นั่นคือสิ่งที่ Foucault กำลังจะบอกคือ การกลับไปหาตัวตนของคุณจริงๆ ที่ไม่ใช่การถูกสร้างหรือหยิบยื่นอะไรบางอย่างให้ อะไรบางอย่างนี่แหล่ะที่เราๆ เรียกกันว่า “อัตลักษณ์” (identity)

ดังนั้นในภาษาไทยคำว่า “อัตลักษณ์” กับ “เอกลักษณ์” จึงไม่เหมือนกัน เอกลักษณ์เปรียบเหมือนหนึ่งเดียว ซึ่งมีคนหยิบยื่นให้คุณ แต่ อัตลักษณ์ คือเรื่องของตัวตน ตัวเราสร้างมันขึ้นมา สอดคล้องกับสิ่งที่ Foucault กล่าวคือการพยายามหาอัตลักษณ์ตัวเอง อย่าคล้อยตามเอกลักษณ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้ อีกตัวอย่างหนึ่ง คือเมื่อเทียบเอกลักษณ์เข้ากับความเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นชาย หากตามมุมมองและสายตาของคนในสังคมที่ยืนอยู่บนเอกลักษณ์เดียว จะมองว่าคุณนั้นผิดปกติ เช่นเดียวกันถ้าเกิดคุณเป็นผู้ชายแต่คุณมีความเป็นหญิง หากมุมมองของสังคมที่มีเอกลักษณ์เดียวมองคุณ คุณก็จะผิดปกติเช่นกัน

ฉะนั้นเรื่องที่ Foucault กล่าวมา มันเคลื่อนมาจาก ประวัติศาสตร์ ภาษา เรื่องของวาทกรรม และการปอกเปลือกวาทกรรม เรื่องของวิธีการแบบโบราณคดี การก่อกวนความรู้เชิงสถาบัน เข้าสู่เรื่องเพศ ความบ้า ฯ เรื่องต่างๆ เหล่านี้มีบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือ การมอง เช่น คุณคือคนบ้า เพราะผมเห็นคุณบ้า / คุณคือคนเลว เพราะผมเห็นคุณทำเรื่องไม่ดี เป็นต้น และการมองที่กล่าวไป เกิดจากทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการมองด้วยสายตาของ นักวิชาการ / หมอ / คุณครู / คนอื่นๆ มอง Foucault จึงหยิบยืมคำของนักคิดสายจิตวิเคราะห์ คือคำว่า gaze (การจ้องมอง) เป็นการมองที่ต่างจากการมองแบบอื่น คือเป็นการมองที่ไม่อนุญาตให้ผู้ถูกมอง มองกลับมาได้เลย คือการใช้อำนาจผ่านสายตาแบบทางเดียว เช่นกรณี หมอมองคนไข้แล้วบอกว่าป่วย ซึ่งเราห้ามถามว่าป่วยอย่างไร เป็นต้น สายตาคืออำนาจอย่างหนึ่งในการมองออกไป และเขาเอาวิธีการแบบนี้ไปเปรียบเทียบกับคุก ซึ่งเรียกต่อมาว่า Panopticon

Panopticon คือแนวคิดที่ว่าด้วยการจ้องมอง แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับคุก ลักษณะจะเป็นวงกลมและมีเซลล์เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด และรายล้อมเสากลมๆ ที่อยู่ตรงกลาง เสานี้จะมีไฟลุกอยู่เสมอ และจะมีผู้คุมเดินอยู่ข้างหน้าไฟ ซึ่งคนที่ถูกจองจำในเซลล์ย่อยๆ นั้นจะมองเห็นผู้คุมแต่ไม่รู้ว่าผู้คุมกำลังมองมาหรือไม่ เพราะไฟอยู่ด้านหลัง คนคุกจะรู้สึกตลอดเวลาว่าตนเองถูกจ้องมอง สายตาของการจ้องมองตัวนี้ Foucault เรียกว่า Panopticism หรือกลไกของการจับผิด มันไปตรงกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า Big Brother ในนิยาย 1984 ที่รัฐจะเป็นผู้ควบคุมดูแลระเบียบเรียบร้อยทุกอย่าง แทรกซึมอยู่ทุกกายภาพในสังคม แม้แต่ในปัจจุบัน ความหมายของคำว่า Big Brother ยิ่งซับซ้อนขึ้น การเกิดขึ้นของ social media ยิ่งทำให้รัฐสร้างกลไกแบบไหนก็ได้ให้คนคล้อยตาม และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสอดส่องผู้อื่น กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ใครๆ ก็สามารถเป็น Big Brother ได้ทั้งสิ้น จากนั้นสังคมจะเต็มไปด้วยอาการหวาดระแวง เป็นสังคมที่เกิดภาวะ Panopticism ในตัวเองตลอดเวลา





Panopticon

ภาพจาก http://www.publicationcoach.com/panopticon/



สิ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกี่ยวอะไรกับงานสถาปัตยกรรม?


สิ่งที่แนวความคิดของ Foucault มอบให้สายสกุลสถาปัตยกรรมคือ (1) ระบบคิดของ Foucault ทำให้เรามองเห็นพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมที่ต่างออกไป มองสถาปัตยกรรมในบริบทของอำนาจ ที่ว่างและการครอบครองพื้นที่ ที่เห็นชัดเจนเลยคือ โรงพยาบาลบ้า / โรงเรียนดัดสันดาน / คุก / พื้นที่หวงห้าม / พื้นที่สาธารณะ ฯ เต็มไปหมด Foucault ให้มิติมุมมองกับเรามากกว่ามุมมองแบบที่เป็น building เขาให้มิติอื่นในการอ่านสถาปัตยกรรม อย่างเช่นเรื่องขอบเขตความหมายของที่ว่างต่างๆ Foucault ให้มิติทางสังคมกับงานสถาปัตยกรรมโดยผ่านกระบวนการใช้อำนาจ (2)วิธีการมองโครงสร้างทางสังคมของ Foucault ทำให้เราเห็นพื้นที่ และที่ว่าง และอะไรอีกหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม

ในขณะเดียวกัน Foucault ก็ให้วิธีการคิดด้วยเช่นเดียวกัน เช่น เขากล่าวถึง Discourse ที่มีอยู่เต็มไปหมดและสร้างตัวตนเราขึ้นมา แต่ Foucault ก็ให้วิธีการด้วยคือการ Discursive Formation ปอกเปลือกและสำรวจวาทกรรมนั้นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่นการย้อนกลับไปสำรวจคำว่า homosexuality กับคำว่า เกย์ ทำไมถึงมีคำสองคำนี้เกิดขึ้น? Homosexuality คือศัพท์ทางการแพทย์ ที่แปลว่าคนรักเพศเดียวกัน คำๆ นี้เป็นคำที่ถูกอธิบายในเชิงการแพทย์ แต่คนที่เป็นเกย์เขาจะไม่เรียกตัวเองแบบนี้ เขาจะเรียกตัวเองว่าเกย์เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าความหมายของคำนี้มันดูสนุกสนาน ไม่เศร้าโศก กล่าวอย่างง่ายๆ คือ คำว่า Homosexuality คือคำที่ใช้เรียกเอกลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ แต่คำว่า “เกย์” พวกเขาสร้างมันขึ้นมาเอง

วิธีคิดแบบนี้ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับ subjectivity ได้อย่างเหมาะสม อย่างเช่นสมมติเราบอกว่า จะลงพื้นที่สำรวจย่านชุมชนสลัม ตัวเราเองก็ได้กำจัด subjectivity ของเขาไปตั้งแต่แรก เรากำลังไปอธิบายและให้ความหมายว่าเขาเป็นกลุ่มประชากรชายขอบตั้งแต่แรก แต่การที่เราจะทำให้เขาเป็นเขา โดยใกล้เคียงที่สุดถึงความเป็น subjectivity ของเขาจะต้องทำให้ได้มีโอกาสพูดหรือ action อะไรบางอย่างด้วย ซึ่งมาปรากฏในงานชิ้นสุดท้ายคือ “The History of Sexuality : vol.3” ที่ต้องการให้ Subjectivity เป็นตัวตนของเขามากที่สุด แต่ Foucault ตายเสียก่อนจะทำสำเร็จ

มาถึงพื้นที่ที่เรียกว่า Other Space ยกตัวอย่างเช่น สนามหลวง ในสมัยก่อนสนามหลวงเปิดโล่งสามารถเข้าไปใช้ได้ ขอบอีกฝั่งหนึ่งใช้ยืนรอรถเมล์ อีกขอบหนึ่งเป็นที่นั่งดูหมอดู อีกขอบหนึ่งตอนกลางคืนเป็นที่ขายตัว ตรงกลางเป็นโรงแรมม่านรูดที่ใช้เสื่อ และในอนาคต ณ ช่วงเวลาหนึ่งมันจะกลายเป็นพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ฉะนั้นรูปแบบของสนามหลวงทางกายภาพแม้เราจะเห็นชัดเจน แต่ความหมายหรือวาทกรรมที่มันถูกสร้างซ้อนทับเข้าไปเรื่อยๆ และมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ที่น่าสนใจคือ Other Space ไม่ได้อยู่อย่างถาวร มันเกิดขึ้นตามช่วงเวลา ตามวาระและโอกาส หรือเรียกอีกอย่างว่า situationist space แต่มีกรณีศึกษาหนึ่งที่ค่อนข้างตายตัว อย่างเช่น สุสาน พื้นที่สุสานคือพื้นที่ที่คนไม่อยากจะมอง ไม่อยากจะคิดว่ามันมีอยู่ แต่มันก็ยังคงอยู่ตรงนั้น แต่ถูกแยกออกจากพื้นที่ของสังคม เพราะฉะนั้น Other Space อันหนึ่งคือเทียบเคียงกับความผิดปกติของคนนั่นแหล่ะเป็นพื้นที่ที่ผิดปกติ วิธีคิดแบบ Foucault จึงทำให้เกิด Other Spaceขึ้นมากมายในสังคม เพราะมันคือการต่อรองทางการเมือง โดยใช้เครื่องมืออันหลากหลาย ทิ่มแทงอำนาจรัฐที่คอยจับจ้องอยู่

สุดท้าย(3) Foucault ทำให้เกิดการคิดหรือ practical thoughts เกิดการเคลื่อนที่ เกิดการสร้างมุมมองนอกกรอบ เกิดการก้าวข้ามและหันมาวิพากษ์ศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมหลัก ย้อนกลับไปที่บทความของ Loos ที่บอกว่าสถาปนิกคือผู้กำหนดทุกอย่าง แม้กระทั่งการรับหรือไม่รับของขวัญ เพราะมันจะทำให้คุณค่าของ space ลดลง แต่คำถามเชิงวิพากษ์ที่ Foucault ทิ้งไว้ให้คือ ทำไมเราถึงไปมีบทบาทในการกำหนดชีวิตผู้คน? สิ่งเหล่านี้เลยส่งผลย้อนกลับมาตั้งคำถามกับ practice ของเราว่า ที่เราเขียนจรดปลายปากกาลงไป เรากำลังกำหนดให้เขาใช้ชีวิตแบบนี้ แบบนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ Foucault ทำคือการต้องย้อนกลับไปคิดใหม่ คิดวิธีการทำงานแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระแสหลัก อาทิเช่น สถาปนิกชุมชน ที่ต้องนั่งฟังเสียงของคนในพื้นที่ สถาปนิกต้องถอยตัวเองออกมา ลดบทบาทของตัวเองลง สถาปนิกจึงจะเป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลัง กลายเป็นคำว่า facilitator เพราะสถาปนิกชุมชนจะไม่ได้เน้นเรื่องการออกแบบ แต่จะเอื้อให้คนที่อยู่ในชุมชนแสดงความคิดความต้องการออกมา

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าคิดในบทความของ Foucault ในเรื่อง Discourse ทำให้โลกของสถาปัตยกรรมกับโลกที่เป็นการก่อสร้างกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะร่างกายคือวาทกรรม ตัวตึกก็คือวาทกรรม ดังนั้นทฤษฎีก็คือวาทกรรม มันจึงถูกให้ความสำคัญในระดับเดียวกัน

สุดท้ายในเรื่องของการใช้อำนาจ มันเปิดประเด็นไปสู่สิ่งๆ หนึ่งที่เรียกว่า การขบคิดในเรื่อง Colonization และนำไปสู่วิธีคิดเรื่อง Colonized Space คือเป็นเรื่องที่กลุ่มคนที่ถูก colonized ย้อนกลับมามองตัวเองว่า เขาถูกเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน และ space ที่เกิดขึ้นในการล่าอาณานิคมมันส่งผลให้ตัวเขาเปลี่ยนไปแค่ไหน เพราะมันไม่ใช่แค่การล่าอาณานิคมอย่างที่เราเข้าใจ แต่มันเปลี่ยนวิธีคิดของพวกเขาไปมากพอสมควร อย่างเช่น คำว่า Orientalism คือความหมายจากคนภายนอกมองคนในฝั่งเอเชีย และสิ่งหนึ่งที่เรามักจะได้ยินคือคำว่า colonized แบบไม่ได้ colonized อย่างเช่นความเป็นไทย ที่เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เรารักษาเอกราชไว้ได้ แต่ในทางกลับกัน เราก็รับเอาความเป็น western colonial มาอย่างล้นเหลือ แทรกซึมฝังในวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นระบบวิธีคิดเหล่านี้มันเป็นรูปแบบที่เติบโตออกมาจากสิ่งที่ Foucault ตั้งประเด็นท้ายที่สุด Foucault ก็ไม่ได้ต้องการให้เราเชื่อบันทึกทางประวัติศาสตร์ มีทั้งทางตันและทางสว่างในทางวิชาการ แต่ประเด็นที่ Foucault มอบไว้ให้ก็มีคนใช้ต่อ และเปิดประเด็นไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น



ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page