top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPeerapong Promchart

Housescape and Critical times : Heidegger กับการเปิดประตูบ้านของ Phenomenology

อัปเดตเมื่อ 21 เม.ย. 2565

This article is a part of the History and Critical in Architecture's talks between Peerapong Promchart and Sant Suwatcharapinun. in April 2017


พีระพงษ์ พรมชาติ : ถอดเทป และเรียบเรียง ร่วมกับ สันต์ สุวัจฉราภินันท์

20 april 2017


Martin Heidegger in the Black Forest, via Renaud Camus on Flickr


เริ่มต้นจากงานเขียนเรื่อง “Building Dwelling Thinking” ของ Martin Heidegger ซึ่งเป็นงานในระยะที่ 2 และ 3 ของ Heidegger โดยจะกล่าวภายหลัง แต่งานเขียนชิ้นนี้ของเขากลับจุดประกายให้กับคนอื่นๆ ในสายสถาปัตยกรรมได้คิดกับมันต่อ อาทิงาน “Genius Loci, Towards a Phenomenology of Architecture” ของ Christian Norberg-Schulz ที่หยิบเอาเรื่องของ Phenomenology มาเขียนต่อในแวดวงสถาปัตยกรรม และเป็นหนังสือที่ดังเอาการในห้วงเวลานั้น( ตอนนี้ก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ )

กลับมาที่ Heidegger กับงานเขียนชิ้นนี้ของเขา จากคำถามง่ายๆ คือ “ทำไม Heidegger ถึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา?” ทำให้ต้องย้อนกลับไปสำรวจในช่วงเวลาดังกล่าวที่ Heidegger เริ่มเขียนเรื่องนี้ขึ้น คือในปี ค.ศ.1951 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดขึ้นก่อน Colin Rowe จะเขียนเรื่อง “Transparency: Literal and Phenomenal” (เริ่มเขียน ค.ศ.1955) แต่ก็มีงานเขียนชิ้นก่อนหน้าของ Heidegger ที่ชื่อว่า “Being and Time” ที่เขียนในปี ค.ศ.1927 คือช่วง Bauhaus กำลังเฟื่องฟู มันช่วยเปิดมุมมองให้ผู้คนหันมาสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม” (existentialism)


คำถามคือ ทำไมถึงมาสนใจประเด็นนี้? ในช่วงนี้? และมีความเกี่ยวเนื่องอะไรกับศิลปะในช่วงนี้?

ย้อนกลับไปในประเด็นของ Cubism ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงหลากหลายมุม เป็นภาพสะท้อนที่ไม่ให้เราเห็นสิ่งที่ “เห็น” ต่อหน้า แต่เป็นอะไรบางอย่างที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้คือเรื่องของ space เช่นเดียวกับกลุ่มศิลปะแบบ suprematism ที่มีลักษณะของ space ที่ล่องลอย อีกทั้งยังเสมือนการทำหน้าที่แบกรับอุดมคติแบบหนึ่งของ modernism เอาไว้ อีกทั้งมันยังทำหน้าที่ค้นหาตัวเองหรือค้นหาอุดมคติเพื่อตัวมันเอง

หากย้อนกลับไปมองสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้น ก็เพื่อต่อกรกับโครงสร้างสังคมแบบ Industrial Revolution เพราะนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ผู้คนในสังคมสนใจแต่เรื่องของ กลไกเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม การขยายตัวของเมือง การสะสมทุน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาพความจริงที่ Simmel (1858-1918) เคยกล่าวไว้ใน The Metropolis and Mental Life (1903) และภาพนี้ดำเนินมาเรื่อยตลอดวิธีคิดและสังคมตะวันตกในเวลานั้น แต่ศิลปะก็แยกตัวออกมาอย่างที่เกิดขึ้นกับ cubism และ suprematism โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากกลไกเชิงอุตสาหกรรม เพราะความจริงมันดำรงอยู่อย่างหลากหลาย

แต่งานเขียน “Being and Time” ของ Heidegger ก็ไม่ได้สนใจเรื่องของ suprematism หรือพูดถึง cubism แม้แต่น้อย แต่พูดประเด็นเกี่ยวกับคุณค่า/สุนทรียภาพอยู่ 3 ประเด็นที่เป็น concept หลักของเขาในช่วงนั้น คือ เรื่องของ (1)Art เรื่องของ (2)บทกวี และเรื่อง (3)สถาปัตยกรรม ดังนั้นใน “Being and Time” จึงตั้งคำถามอยู่คำถามเดียวเลย คือ “อะไรคือตัวตน?” (What is the meaning of Being?) (Being?) เพราะ Heidegger เชื่อว่า การเข้ามาของระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่มันทำให้ตัวตนของเราเล็กลง หรือต่ำลง ซึ่งตอบสนองต่อคำประกาศของ modernism ที่บอกว่าจะทำให้ชีวิตของทุกคนสบายขึ้น เดินทางง่ายขึ้น ถนอมอาหารได้นานขึ้น มีไฟฟ้าใช้มากขึ้น ความกลัวต่างๆ จะหายไป เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ นี่คือคำประกาศของ modernism มันทำให้ตัวตนของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป Being จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ Heidegger ใช้เป็นหมุดหมายหลักของคำถามในงานเขียนชิ้นนี้

งานชิ้นนี้โจมตีการได้มาซึ่งความหมายของคำว่า Being โดย modernism วิธีคิดเหล่านี้มันทำให้มนุษย์ถูกตัดขาดออกจากดิน(ground) อีกทั้ง Heidegger ยังสร้างข้อโต้แย้งกับ concept เรื่อง “I think therefore I am” ของ Descartes (1596-1650) นักปรัชญาก่อนยุครู้แจ้งชาวฝรั่งเศส โดย Heidegger บอกว่า concept เรื่อง “I think therefore I am” ทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับ Being ของตะวันตกถูกแยกขาดจากผืนดิน แยกขาดจากเมือง แยกขาดจากภาษา แยกขาดจากโครงสร้างความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ เพราะอยู่ดีๆ มันก็ลอยขึ้นมาในหัว และกลายมาเป็นตัวตน นี่คือจุดเริ่มต้นในวิธีคิดของเขา เพราะเขาเชื่อว่าเราไม่สามารถมีตัวตนอยู่ได้แบบลอยๆ แบบนั้น Being ของเขาจะต้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม สัมพันธ์กับภาษา สัมพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณี นี่คือ Being ของ Heidegger จึงมีคนเริ่มหันกลับมาอ่านงานของเขา เพื่อเข้าใจกับคำว่า Being ใหม่และเพื่อเข้าใจว่า Being แบบตะวันตกถูกประกอบสร้างอย่างไร

จุดที่สองที่ Heidegger โจมตีคือ ความหมายของ Being ที่ modernism มอบให้ ซึ่งมันถูกลดทอน ลิดรอน โดยวิทยาการต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือของ modernism ณ จุดนี้เองทำให้งานเขียนของ Heidegger ได้รับความสนในอย่างมากและถูกนำไปพัฒนาต่อโดยเฉพาะในแวดวงที่ว่าด้วยสภาพแวดล้อม หรือสถาปัตยกรรม

ในวิธีคิดของ Heidegger คือการพยายามทำให้ being ที่แต่เดิมถูกทำให้เล็กลง ประกอบกลายเป็น Being ตัวใหญ่ให้ได้เช่นเดิม เขาไม่ได้ให้เราปฏิเสธความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เพียงแต่ให้คัดกรอง เข้าใจและใช้อย่างมีวิจารณญาณ อย่างในก้อนสีฟ้าคือ วิธีคิด โดยเขาให้ keywords เอาไว้ว่าควรจะคิดอย่างไร อาทิเช่นคำว่า Being in itself ซึ่งหมายถึงการคิดย้อนกลับมาที่ตัวเราหรือคำว่า Isolation (การแยกออก/โดเดี่ยว) กับ Being in the world ที่หมายถึงการมีอยู่ในโลก แล้วจะทำอย่างไรให้เราเชื่อมโยงเข้ากับโลกได้ ดังนั้น Heidegger จึงกลับไปคิดกับคำว่า “World” เพื่อที่จะหาวิธีเชื่อมโยง และสิ่งที่ใช้อธิบายคือคำว่า Thing in itself คือเป็นของที่เป็นของตัวมันเอง และ Thing in the world คือตัวมันเองที่อยู่ในโลก กล่าวอย่างง่ายๆ คือแนวคิดของ Heidegger ในเรื่องนี้ไม่ต้องการให้คิดแบบแยกส่วน วิธีคิดควรจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ โดยรอบตัวมัน และต้องเข้าใจสถานะแบบ Being in itself กับ Being in the world เช่นเดียวกับการพิจารณาสถานะของ object ต่างๆ ที่ต้องมีทั้ง Thing in itself คือเป็นของที่เป็นของตัวมันเอง และ Thing in the world คือตัวมันเองที่อยู่ในโลกเช่นเดียวกัน คำว่า “world” จะทำให้เรากับ thing เชื่อมต่อถึงกัน


คำว่า “world” สำหรับ Heidegger ไม่ได้เป็นเพียงแค่บริบท(context) แต่มันเป็นมากกว่านั้น มันคือสิ่งกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเรา มันทำให้เรารู้ว่าตัวเราอยู่สถานะใดในโลก มีภาษาเข้ามาควบคุม ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้นบทบาทของคำว่า “world” มันจึงมากไปกว่ากายภาพ ยกกรณีศึกษาวิธีคิดเกี่ยวกับ Phenomenology อย่างเช่น สะพาน ทำไม่ถึงเป็นสะพาน? แต่อย่าเพิ่งไปคิดว่าเหวหรือผืนดินสองฝั่งมันแยกออกจากกัน จริงๆ แล้วมันเชื่อมถึงกันด้านล่าง แต่ตัวเราต่างหากที่รู้สึกว่ามันแยกกัน แต่ถ้าเราคิดแบบ Being in the world แสดงว่าสิ่งเหล่านี้มันเชื่อมถึงกัน กล่าวอย่างง่ายคือ หากเราเชื่อว่าเป็นเชื่อมกันได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของกัน thinking ก็จะทำให้เราเชื่อมกับมันได้ เพราะฉะนั้นวิธีคิดที่เราเชื่อมกับโลก มันก็จะเปิดเผยชุดที่จะทำให้เชื่อม จากจุดอีกฝั่งถึงจุดของอีกฝั่งพื้นที่มันจะบอกเราเองว่ามันสามารถเชื่อมต่อกันได้ที่ตรงไหน พื้นที่มันจะบอกเราเองตรงไหนเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด และวิธีคิดแบบนี้จึงนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า particularity หรือความเฉพาะเจาะจง โดยมันจะต้องอยู่ตรงนี้เท่านั้น ถึงจะเกิดการสร้าง connection มันจะลอยๆ อยู่ไม่ได้ เลยเกิดคำว่า “Local” ในงานเขียนของ Heidegger ที่บอกความหมายถึงตำแหน่งแห่งที่ และมันไม่สามารถเป็นที่ใดก็ได้ แต่ต้องเป็นที่นี่เท่านั้น

ทำไม่ Heidegger ต้องเขียนว่า Building - Dwelling – Thinking ?? โดย Heidegger พยายามหาวิธีอธิบายที่ทำให้เราเข้าใจคำว่า Being โดยการเปิดพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างตัวเรากับพื้นที่ และระหว่างตัวเรากับสิ่งของและโลก โลกจึงทำหน้าที่เชื่อมระหว่างเรากับ things เข้าด้วยกัน พอเชื่อมกันแล้ว การอยู่หรือ dwell จึงให้ความเฉพาะเจาะจงด้วย โดยมีเรื่องของเวลาเข้ามากำกับ จนทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนั้นด้วย เพราะฉะนั้นความเฉพาะเจาะจงนี้เองถ้าเราสร้างมันขึ้นมาได้ ก็จะช่วยทำให้ “การอยู่” มีคุณภาพ และทำให้ Being มีความเป็น Being มากขึ้น particularity ที่ทำให้เกิดความเฉพาะเจาะจงของการอยู่มันจึงนำไปสู่คำว่า “สถาปัตยกรรม”




หากเราสร้างอะไรบางอย่าง อย่างเฉพาะเจาะจงมันจะเกิดเป็น particularity ขึ้น แต่ต้องใช้เวลา และการ particularity นี้จะทำให้การ dwell หรือการมีชีวิตอยู่มีคุณภาพ และตัวตนก็จะมีความเป็นตัวตนที่สมบูรณ์ขึ้น อันนี้เป็นจุดมุ่งหมายที่ Christian Norberg-Schulz เอางานของ Heidegger มาขยายต่อ โดยเขากล่าวว่า ตัว space มันมีอยู่อย่างดาษดื่น มีก่อนเราจะเกิดเสียอีก มันมีอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าเราจะมอบความหมายให้แก่มันอย่างไร เราให้ความเฉพาะเจาะจงแก่มัน เราเรียกชื่อมันอย่างไร เราแต่งเติมเสริมสร้างมันขึ้นมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเกิดคำว่า “place” (ความหมายตามนิยามของ phenomenologist คือ space ที่ถูกparticularity เรียบร้อยแล้ว) ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ห้องเรียนห้องหนึ่งก่อนที่เราจะเข้ามาเรียนมันคือ space อันหนึ่ง แต่พอถึงเวลา 9 โมง space แห่งนี้เปลี่ยนการรับรู้ของทั้งนักเรียนและครูให้กลายเป็น place เพราะมันถูก particularity ให้เป็นที่สอนหนังสือ เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นที่คุยเล่นกับเพื่อนเวลาครูไม่อยู่ แต่หลังจากหมดชั่วโมง ห้องเปล่าห้องนี้ก็จะกลายเป็น space เช่นเดิม

ปรากฏการณ์อันนี้ทำให้เกิดการแยกออกระหว่าง building กับ architecture โดย building คือตึก ให้คุณค่าในเชิงพาณิชย์ / functionalism แต่ architecture ให้คุณค่ากับการสร้างความเฉพาะเจาะจงของคนอยู่ ของ user ของ programing ต่างๆ architecture จึงดูมีความสำคัญกับกลุ่ม phenomenologist มากกว่า building เพราะ building ไม่ได้นำไปสู่การอยู่ที่มีคุณภาพ มันเป็นเพียงแค่ space ที่ยังไม่ถูก particularity ตรงนี้เป็นจุดที่สายสถาปัตยกรรมรับเอาแนวคิดของ Heidegger มาเต็มๆ


บริบท(context)คือ???


สถาปนิก/นักประวัติศาสตร์วิพากษ์ชาวอังกฤษ อย่าง Kenneth Frampton (เกิด 1930) ซึ่งได้อ่านวิธีคิดของ Heidegger และกล่าวว่า ในบริบทที่ว่าไม่ต้องไปหาดูที่ไหนไกล ดูที่ตัว façade ก็สามารถรับรู้ได้แล้ว เพราะอะไร Frampton จึงคิดแบบนั้น เพราะตัวเรา Being in the world และสิ่งที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด แล้วประกอบรวมกันเป็นภาพใหญ่ของเมือง คือตัว façade มากกว่าตัว space ภายใน façade มันก่อให้เกิดการห่อหุ้มอย่างไร มันทำหน้าที่อะไร มันมีประเด็นอะไรที่แทรกเข้ามาอยู่ในงาน façade นั่นคือเหตุผลของ Frampton ในการค้นหาคำว่าบริบทของ Heidegger และทำให้เขาเชื่อว่า International style มันแทรกตัวเข้ามา ไม่ใช่ใน space แต่อยู่ในรูปของ façade และมันเข้ามาพร้อมเหล็ก กระจก และตึกสูง ซึ่งมันเข้ามาลดทอนตัวตน ลดทอน Being ของเราไปพร้อมๆ กัน Frampton จึงได้เขียนบทความมาเรื่องหนึ่งชื่อ “Towards a Critical Regionalism: Six points for an architecture of resistance”(1983) เขียนออกมาเพื่อต่อต้าน หรือให้คิดทบทวนถึงการเข้ามาของกระแส International style ที่ไปกดทับรูปแบบหรือความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ บทความชิ้นนี้ช่วยสร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้คนหันกลับมามองรากเหง้าของตนเองที่จะสร้างความ particularity ให้กับคนและเมือง

กลับมาที่งานเขียน“Genius Loci, Towards a Phenomenology of Architecture” ของ Christian Norberg-Schulz หากจะกล่าวอย่างง่ายๆ มีอยู่ 2 ประเด็น คืออันแรก(1)จะนำแนวความคิด Phenomenology ของ Heidegger มาใช้อย่างไร และ(2) จะทำอย่างไรให้งานสถาปัตยกรรมสามารถเป็นช่องทางที่ทำให้เรากลับไปมีตัวตนมากขึ้น

จุดเริ่มต้นแรกนั้น Christian Norberg-Schulz ก็เข้าไปตั้งคำถามกับ space กับ place และคิดว่ามันจะสามารถถูกขยายแยกย่อยออกมาได้อย่างไรอีกเพื่อจะนิยามกับมัน อาทิเช่นคำว่า concrete space หรือที่ว่างที่จับต้องได้ และเป็นที่ว่างที่วัดได้ด้วย ส่วนคำว่า isomorphic space หรือที่ว่างที่มองเห็นในระดับสายตา live space คือเป็นที่ว่างที่ให้ร่องรอยของการมีอยู่ มีการใช้ชีวิต และสุดท้ายคือคำว่า place ซึ่งกล่าวไปแล้ว เป็นต้น ฉะนั้นแล้วการอธิบายงานสาย Phenomenology มีข้อจำกัดชิ้นใหญ่คือเรื่องของ ภาษา เพราะแต่ละถิ่นที่บนโลก แต่ละภาษามีระดับการสื่อสารกับ things แตกต่างกัน

Heidegger เขียน “Being and Time” ในช่วงที่เยอรมนีกำลังเริ่มฟื้นตัวจากความพ่ายแพ้ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่สายธารหลากหลายความคิดหลั่งไหลเข้ามาสู่เยอรมัน Bauhaus กำลังเฟื่องฟู แต่บทความ “Building Dwelling Thinking” เขียนขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับความพ่ายแพ้ย่อยยับของเยอรมนี ทั้งสองงานเขียนมีความแตกต่างกัน ประเด็นก็คือ ตอนที่เขาเขียนเรื่อง “Being and Time” มันค่อนข้างที่จะฟุ้ง เหมือนเป็นการทดลองเชิงวิธีคิด ต้องการค้นหาอุดมการณ์ใหม่ๆ เพื่อหลีกหนีความเป็น modernism แต่ช่วงหลังสงครามโลก Heidegger คือผู้แพ้ (เพราะเขาเป็นสมาชิกพรรคนาซีด้วยขณะนั้น และบทความของเขาที่ว่าด้วยการเชื่อมต่อ ก็ถูกนำไปตีความในเชิงลบโดยนาซี และปลุกกระแสชาติพันธุ์อันสมบูรณ์แบบเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่อารยัน) Heidegger เองเป็นตัวส่งเชื้อเพลิงให้ Being ของชนเผ่าอารยันต้องอยู่เหนือผู้อื่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นในบทความ “Building Dwelling Thinking” จึงทำให้ความเป็น Being ลดลง sense ของความเฉพาะเจาะจงใน Being ลดลงอย่างมาก

คำว่า “meaning”(ความหมาย) ที่เกิดขึ้นตามยถากรรม เพราะมันคือการรวมกันของความหมายสัญญะกับรูปสัญญะ คนไม่ได้อยู่ในสมการนั้น แต่คำว่า “meaningful”(อย่างมีความหมาย) ต้องเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ซึ่งอยู่ในงานของ Heidegger และเป็นจุดแยกออกจากกันระหว่าง Semiology กับ Phenomenology โดย Semiology สนใจที่จะเล่นกับสัญลักษณ์ แต่จะมีความหมายกับมนุษย์มั้ยนั่นคนละเรื่อง ส่วน Phenomenology ในงานสถาปัตยกรรมจะเต็มไปด้วยการสร้าง meaningful เพื่อให้เกิดความรู้สึกแบบเฉพาะเจาะจงต่อคนๆ นั้น ที่เข้ามาในพื้นที่ แต่ถ้าไม่เข้ามาก็จะไม่รู้สึก

งานในเชิงปรากฏการณ์วิทยาไม่จำเป็นต้องเรียบๆ อย่างที่เราเข้าใจ บ่อยครั้งเราจะได้เห็นในงานของ Peter Zumthor (เกิด 1943) อาทิเช่นที่ Therme Vals (1996) เป็นต้น ส่วนคนอื่นอย่างเช่นงานของ Libeskind

(เกิด 1946) ที่สร้างพื้นที่แบบ particularity เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียของชาวยิวในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีเยอรมัน โดยใน space ที่เขาออกแบบนั้น คนที่เข้าไปใช้งานจะตีความอย่างไร มันก็ไม่สำคัญเพราะว่า space แห่งนี้ได้ทำหน้าที่ในการสร้าง meaningful ให้เกิดขึ้นแล้ว


สุดท้ายคือการถามกลับว่า Phenomenology มันคล้ายกับศาสนารึเปล่า? เพราะเมื่ออ่านงาน Heidegger แล้ว เหมือนต้องวิปัสสนา ต้องนั่งคิดเชื่อมโยงกับโลก เพราะภาษาของงานประเภทนี้เป็นภาษาคล้ายๆ บทกวี และมีความใกล้เคียงกันมากกับพุทธ คือการเอาตัวตนเราไปผูกกับสภาพแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์วิทยาก็ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ที่แยกตัวออกมาจากความรู้กระแสหลักอย่าง modernism แต่มันยังให้วิธีคิดที่แปลกใหม่อย่างที่กล่าวไป ทั้งเรื่องการเชื่อมตัวเองกับโลก กับสิ่งของ การสร้างความเฉพาะเจาะจงให้กับ space สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือที่ Phenomenology มอบให้สายสถาปัตยกรรมและนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขวิธีการลงภาคสนาม เพราะเราจะต้องรู้จัก particularity ของพื้นที่ ชุมชน เมือง นั้นๆ และหลังจากที่เรารู้แล้ว เราควรจะถามอะไร? เราควรจะมองอะไร? จะต้องใช้กระบวนวิธีคิดอย่างไรเพื่อสร้างเครื่องมือทดสอบ ดังนั้น Vernacular Architecture จึงเกิดขึ้นและมีรากฐานความคิดมาจากสายสกุลปรากฏการณ์วิทยา


ดู 211 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page