This article is a part of the History and Critical in Architecture's talks between Peerapong Promchart and Sant Suwatcharapinun. in April 2017
พีระพงษ์ พรมชาติ : ถอดเทป และเรียบเรียง ร่วมกับ สันต์ สุวัจฉราภินันท์
20 april 2017
จากการที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวความคิดของ Eisenman ผ่านการทำงานทั้งงานเขียนและงานสถาปัตยกรรม ตัวเขาเองช่วงแรก( ประมาณทศวรรษ 1960-1970 )ไม่ได้เป็น Deconstruction แต่เหมือนกับเป็นการทดลองในเชิงภาษาอยู่ ซึ่งการทดลอง ณ ตอนนั้นเขาสนใจอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ (1) พยายามหนีออกจากความงามหรือรูปแบบที่ได้อิทธิพลมาจาก Bauhaus (2) คือการพยายามสร้างหลักเกณฑ์ในการทำงานออกแบบของตนเอง ให้หนีห่างออกจากความหมายสัญญะให้มากที่สุด ทำให้รูปสัญญะ กับความหมายสัญญะถูกถ่างออกไป มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หน่วงความหมายให้เข้ามาปะทะกันให้ช้าที่สุด เพื่อให้เกิดการตีความได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น
สิ่งเหล่านี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อ Eisenman ได้เริ่มแลกเปลี่ยนกับ Derrida ในเรื่องภาษาและการรื้อสร้าง งานช่วงหลังของ Eisenman จึงเล่นกับเรื่องการรื้อถอนโครงสร้างการให้ความหมาย ทั้งที่ว่าง รูปแบบ หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ งานของเขาช่วงหลังให้ความสำคัญกับที่ตั้ง(site) การใช้แนวคิด superimposition ในการสร้าง diagram สู่ตัวสถาปัตยกรรม Eisenman เชื่อว่าการรื้อสร้างความหมายของสิ่งที่ภาษาได้สร้างเอาไว้จะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ในการตีความ เพราะภาษาคืออุปสรรคในการเข้าถึงความจริง แต่ Derrida ก็กล่าวสำทับว่า เพราะภาษาต่างหากที่ทำให้ความจริงไม่ปรากฏ เพราะความจริงบางอย่างอยู่นอกภาษา เหล่าสำนัก Deconstruction จึงเน้นไปที่เรื่องของภาษา
เริ่มกันที่งานเขียนของ Ferdinand de Saussure นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส (1857-1913) เขาสนใจการสื่อสารของคน แต่ไม่ได้สนใจการใช้ภาษาของคน เพราะภาษามีเงื่อนงำอะไรบางอย่าง ตัวอย่างเช่น รอยเทปกาวบนผนังที่เรามองเห็นบ่งชี้ว่า มันเกิดจากรอยของอะไร เกิด ณ ช่วงเวลานำเสนองานที่จะต้องยึดติดกับผนัง สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เราคิดถึงสิ่งที่มันต้องการสื่อสาร หรือเรียกว่า indexical signs อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเรามองเห็นกุญแจล็อคหน้าประตู เราต้องคิดว่าห้องนั้นย่อมต้องมีสิ่งสำคัญอะไรบางอย่าง นั่นคือ symbolic signs ส่วนในอีกกรณีหนึ่งคือ ตัวกุญแจเองมันก็สื่อถึงตัวมันเอง มันคือรูปเหมือน สิ่งนี้เรียกว่า iconic signs สรุปสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด Saussure ไม่ได้สนใจแม้แต่น้อย เพราะทั้ง 3 signs อยู่ในร่มของ communication เป็นศาสตร์ของการสื่อสาร ตัวอย่างของการสื่อสารที่แพร่หลายในช่วงนี้ (หลัง 14 ตุลาคม 2559) อาทิเช่น เลข 9 / สีดำ / โบว์ดำ หรือเป็นต้น
แต่ Saussure สนใจลึกลงไปอีก คือสนใจโครงสร้างทางภาษา สนใจว่าภาษาทำงานยังไง? มีระบบการจัดการตัวมันเองอย่างไร? ทำไมสีดำกับความเศร้าโศกจึงได้ถูกนำไปผูกกันตั้งแต่แรก? สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ภาษาศาสตร์โครงสร้าง” นั่นทำให้มันควรถูกแยกออกจาก communication
Saussure ไม่ได้สนใจตัว sign ที่วิ่งออก แต่สนใจตัว sign ที่วิ่งอยู่ในตัวมันเอง เขาจึงคิดโครงสร้างของ sign ขึ้นมา เพราะตัวภาษาเองมันคือ sign ความหมายของ sign ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงภาพ หรือสัญลักษณ์ แต่มันหมายถึงสัญญะ ตัวอย่างเช่น หาก A พูดคำว่า “สีดำ” เสียงและคำที่เปล่งออกมาว่า “สีดำ” ก็วิ่งเข้าไปในหูของ D ตัวนี้จะเรียกว่า “รูปเสียง” มันคือ sign ชนิดหนึ่ง แล้วรูปเสียงเหล่านั้นก็วิ่งค้นหาความหมายที่อยู่ในหัวของ D จากนั้นมันก็เป็นก้อนดำหล่นออกมา กลายเป็นความหมายของเศร้าโศก เป็นต้น ดังนั้นกระบวนการที่อยู่ในหัวของ D เรียกว่า signified ส่วนก้อนดำๆ ที่หล่นออกมา และวิ่งไปหารูปเสียงที่วิ่งออกมาจากปากของ A จนกลายเป็นความเศร้าโศก นั่นเรียกว่า signifier
Saussure ไม่ได้สนใจด้วยว่ารากเหง้าของคำต่างๆ มาจากไหน แต่สนใจว่าความหมายสัญญะกับรูปสัญญะทำไมถึงทำให้เกิดคำๆ นี้ ดังนั้น Saussure จึงไปเจอ และบอกว่าที่ผ่านมานั้น ทั้ง 2 สิ่งผสมรวมกันไปตามยถากรรม (arbitrariness) นี้เป็นเสมือนคำประกาศของเขา ผลที่เกิดขึ้นคือ (1) Saussure เข้าใจว่าภาษามันทำงานอย่างไร (2) เข้าใจกระบวนการได้มาซึ่งความหมาย
มีนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Roland Barthes (1915-1980) นำทฤษฎีของ Saussure มาพัฒนาต่อ และเสนอว่า การสื่อความหมายนั้นมี 2 ระดับ ระดับแรกคือ กระบวนการได้มาซึ่งความหมาย ระดับที่สองคือ ความหมายเชิงวัฒนธรรม (Cultural Meaning) ซึ่งมีการตีความที่ซับซ้อนกว่าระดับแรกมาก มันไม่ได้ทำงานเพียงแค่กลไกทางความหมาย แต่มันปฏิบัติการถึงขั้นไปเอื้อหรือไปลดคุณค่าของคนบางคน หรือกลุ่มคนบางกลุ่มด้วย เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “มายาคติ” (mythologies) และเป็นข้อโต้แย้งหลักของเขา Barthes นำเอาเรื่องกลไกการทำงานของภาษาที่ตีความในระดับวัฒนธรรม หันกลับไปวิเคราะห์โฆษณา propaganda ทั้งหลาย / ตีความวัตถุต่างๆ ที่เป็นผลผลิตจากระบบทุนนิยม / ตีค่าเรื่องความงาม / ตีคุณค่าของกีฬามวยปล้ำ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการ “อ่าน” วัฒนธรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะหลังสมัยใหม่เป็นต้นมา โดยพื้นฐานของวิธีคิดมาจาก semiotics
ภาษาถูกอ่านเข้ากับหลายๆ ศาสตร์ และภาษาเหมือนกระชากให้หลากหลายศาสตร์เริ่มตื่นตัวเช่นเดียวกัน ตื่นตัวว่าศาสตร์เหล่านั้นมีวิธีการใช้ภาษาอย่างไร? มีตรรกะในการใช้ภาษาขนาดไหน? ใช้ภาษาตามเงื่อนไขอะไรบางอย่างหรือไม่? เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มใช้ภาษาไปแล้ว มันย้อนกลับไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นนักมานุษยวิทยา คุณต้องเดินทางไปยังที่ห่างไกล มีชนเผ่าเก่าแก่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น และในขณะที่คุณต้องเขียนรายงานการวิจัยเกี่ยวกับพวกเขา ภาษาของคุณกำลังสร้างเขาอยู่ ฉะนั้นแล้วการที่คุณได้ใช้ภาษาออกไป ได้ตระหนักอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือยัง? นำมาซึ่งปรากฏการณ์ Linguistics turn หรือการปฏิวัติทางภาษาในระบบวิธีคิดของตะวันตก เกิดคำถามมากมายโดยเฉพาะ ศาสตร์ทางปรัชญาและมนุษยศาสตร์ ว่า “ใครมีอำนาจในการกำหนด และสร้างภาษาเหล่านั้นขึ้นมา”
มีนักคิดมากมายเข้าไปอยู่ในจังหวะฝุ่นตลบทางความคิดเวลานั้น หนึ่งในนั้นคือ Derrida โดยพยายามหาช่องทางให้ signifier กับ signified มันหลุดออกจากกัน เพราะมันถ่างออกจากกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะมีพื้นที่ให้ความหมายสัญญะอื่นๆ แทรกตัวเข้ามาได้ หรือรูปสัญญะสามารถขยายพื้นที่ของมันเองออกไปอย่างไร้ขอบเขตเพื่อรองรับความหมายอื่นๆ หลังจากมันถ่างออกจากกัน เมื่อถึงจุดที่ความหมายสัญญะมันทำงาน และวิ่งเข้ามาหารูปสัญญะ มันอาจจะไม่วิ่งเข้ามาเจอกันในมิติ หรือระนาบเดิมอีกต่อไป แต่มันอาจจะมาพบกันในมิติที่มากกว่า 1 หรือ 2 หรือ 3 และระนาบที่ซับซ้อนกว่า สิ่งเหล่านี้จึ้งเป็นการเกิดขึ้นของความหมายแบบใหม่ สิ่งนี้เรียกว่า Deconstruction
แต่ก็ย่อมมีข้อยกเว้นสำหรับ Deconstruction เพราะมันไม่สามารถทำให้ทั้งสองส่วนถ่างจากกันได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น มนุษย์เราไม่อาจดำรงอยู่ได้หากไม่มีการกล่าวนาม หรือชื่อเรียก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีชื่อเรียกสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แสดงว่าคุณจำมันได้ และคุณให้ความหมายกับมัน แม้กระทั่งคุณเกลียดมัน คุณก็ต้องให้ชื่อกับมัน เพื่อมันจะได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งในอีกหลายๆ สิ่งที่คุณเกลียดในชีวิต
ต่อจากนี้เราจะสำรวจโครงสร้างทางภาษาที่ถูกจับแยกส่วน แล้วเชื่อมโยงไปสู่งานสถาปัตยกรรม ซึ่งมีการเปรียบสถาปัตยกรรมกับรูปสัญญะ และดูเหมือนจะสร้างปัญหาในการออกแบบเสียมากกว่า เพราะถ้าเราเปลี่ยนเทียบรูปสัญญะที่สุดท้ายแล้วมันกลายเป็น sign เช่นเดียวกับตัวสถาปัตยกรรมมันก็ต้องกลายเป็น sign ด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วตึกนี้ หรือ sign แบบนี้ที่เราเห็นมันก็ควรจะบอกอะไรได้บ้าง จึงมีคนเริ่มค้นหาว่าตึกหรือตัวสถาปัตยกรรมเหล่านี้มันสื่อสารได้จริงหรือไม่?
ต้องย้อนกลับไปมองเรื่อง functionalism / ทำไมเราต้องกลับไปพิจารณาสิ่งเหล่านี้?
ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองเห็นงานของ Le Corbusier โดยไม่ได้บอกว่ามันคือบ้าน (house) เราจะรู้มั้ยว่ามันคืออะไร? แม้เราจะไม่รู้ว่าทั้งหมดคืออะไร แต่เรายังพอรู้ว่า สิ่งนั้นคือช่องเปิด สิ่งนั้นคือ cantilever ที่ยื่นออกมารับทางเข้า เรายังเห็นว่ามันเป็น 2 ชั้น เพราะฉะนั้นภาพดังกล่าวแม้มันจะไม่ได้บอกว่ามันคือบ้าน แต่มันบอกว่ามันคืออะไรบางอย่างที่คนเข้าไปใช้ได้ มันอาจจะเป็นโรงเรียน / สำนักงาน อะไรก็แล้วแต่ และอย่างน้อยมันมีคน ดังนั้นภาพๆ หนึ่งของงานสถาปัตยกรรมมันจึงทำหน้าที่ได้หลายบทบาท
ต่างกับงานที่ใช้ระบบคิดแบบหลังสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยสิ่งประดับประดา มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกเพิ่มเข้า และไม่จำเป็นต้องตอบสนองพื้นที่ใช้สอยอย่างเจนจัดเฉกเช่นที่ modernism กระทำ ไม่ได้ให้อะไรกับการที่เราเทียบคนเข้าไป ดังนั้นตัวตึก หรือสถาปัตยกรรมแบบ modernism มันจึงพูดออกมาอย่างชัดเจนว่า “ตัวมันสามารถถูกใช้งานอย่างไร?” และเป็นที่มาของคำว่า functionalism
และเมื่องาน Bauhaus ข้ามฝั่งมาอเมริกาหลังสงครามโลก แล้วกลายเป็นเพียง style เพราะอเมริกาผู้ชนะสงครามไม่จำเป็นต้องใช้ ideology แบบเดิมที่ modernism มี แต่สิ่งเดียวที่ต้องการจาก modernism คือ ความงามเท่านั้น ควบคู่ไปกับคำถามข้างบนคือ “คุณจะใช้งานมัน(ตัวตึก)ได้อย่างไรบ้าง” มันจึงเป็นการเข้าใจว่า modernism = functionalism
สิ่งเหล่านี้ทำให้ Eisenman ใช้โจมตีความเป็น functionalism โดย Eisenman ต้องการที่จะเข้าไปรื้อโครงสร้างความหมายของสิ่งเหล่านี้ แต่วิธีการรื้อคือ เข้าไปรื้อ subtract ของ modernism ที่บอกว่า “จะใช้งานฉันอย่างไร?” Eisenman เข้าไปตีความหมายของแต่ละพื้นที่ที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของ modernism
เพราะฉะนั้นในโลกของสถาปัตยกรรมที่ถูกการใช้งานมาคลุม มันจึงเกิดประดิษฐกรรมอย่างหนึ่งขึ้นมา คือ building type และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้มันสอนในโรงเรียน โดยระบบคิดแบบนี้ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดของ modernism อย่างเต็มเหนี่ยว สอดแทรกอยู่ใน programing ของทุกๆ บทเรียนของนักเรียนสถาปัตยกรรม มันจึงเกิดคำว่า functional diagram / circulation diagram โดยนักเรียนเหล่านั้นแทบจะไม่ต้องคิด programing หรือพื้นที่รองรับกิจกรรมขึ้นมา แต่มีหน้าที่เพียงสร้างสรรค์ form ขึ้นมาเพื่อรองรับกับ programing อันแน่นิ่งเหล่านั้นก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งตัวอาจารย์ผู้สอนเองก็มี scheme อยู่ให้หัวแล้วเช่นกัน ว่า programing เหล่านั้นควรจะถูกวางลำดับความสำคัญอย่างไร สิ่งไหนมาก่อนมาหลัง ถ้านักเรียนคนไหนวาง diagram ได้ใกล้เคียงกับ scheme ของผู้สอน ก็ผ่าน แต่หากใครผิดแปลกไปจาก scheme อันนั้น ย่อมถูกปฏิเสธและเป็นการออกแบบที่ใช้ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าวิธีคิดทั้งหมดเหล่านี้ที่สอนในโรงเรียนล้วนมีรากฐานความคิดมาจาก functional diagram และที่น่าเศร้าใจคือ ปัจจุบันการสื่อสารระหว่างนักเรียนกับอาจารย์ผู้สอนยังคง base on ระบบคิดแบบนี้กันอยู่ ปัญหาของ building type จึงเป็นปัญหาที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมไม่งอกเงย
และปัญหาเหล่านี้ยากลงไปกว่านั้นอีก คือ กฎหมายควบคุมอาคาร หรือเทศบัญญัติอาคารต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่รองรับการเกิดขึ้นของกิจกรรมประเภทใหม่ๆ อาทิ คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ไม่มีให้ใช้คำว่า “โรงมหรสพ” แทน หรืออาคาร mixed use ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรูปแบบใหม่ ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ กฎหมายบังคับให้เรียกไปเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้ออกมาไม่ทัน programing ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางสังคมหลังสมัยใหม่ ปัญหามันจึงเกิดขึ้น
หากถามว่า modernism จบแล้วหรือยัง? คงต้องย้อนให้คำถามเหล่านั้นกลับไปมอง รากเหง้าของ modernism ที่มันผูกอยู่กับการสื่อสารในแบบ functional ยังคงปรากฏอยู่ในหัวเรา และอยู่ในระบบคิดของสังคมส่วนใหญ่ไม่น้อยเลย ดังนั้น modernism อาจจะยังไม่จบ มันยังคงดำเนินต่อไป
ในบทหนึ่งในหนังสือชื่อ Architecture from without: Body, Logic, and Sex (1991) โดย Diana I. Agrest (เกิด 1945) นักทฤษฎีสถาปัตยกรรมและผังเมือง ส่วนหนึ่งของบทความในเล่มนี้เป็นการสืบค้น และมองหา discourse of Architecture ว่ามันไม่ได้มาจากตัวของมันเอง แต่มันมาจากข้างนอกโลกของสถาปัตยกรรม มันมาจากเรื่องอื่น discourse ที่ถูกเขียนขึ้นไม่ว่าจะเป็นจาก Vitruvius / Adolf Loos มาจนถึง Venturi เอง ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในโลกของสถาปัตยกรรมเอง และ Agrest กำลังบอกเราว่า บางอย่างเกิดขึ้นนอกร่มสถาปัตยกรรมก็จริง แต่มันกำลังจะแหวกว่ายเข้ามา งานของเธอมองจากหลายๆ มุม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านแบบฟิล์ม ว่าตัวตึกเหล่านั้นถูกสร้างอย่างไร และถูกใช้อย่างไร และยกตัวอย่างกลุ่มงานประกวดแบบตึก Chicago Tribune โดยให้เหตุผลว่ารูปแบบอาคารที่เกิดขึ้นกับตึก Chicago Tribune เกิดขึ้นจากนอกตัวสถาปัตยกรรม แต่เกิดขึ้นจาก Urban Context หรือบริบททางผังเมือง และทั้งหมดที่เธอทำคือการค้นหากระบวนการได้มาซึ่งความหมายจากการมองเมือง
Chicago Tribune Competition ทำให้เห็นอะไร?
มันคือการประกวดแบบที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสำนักพิมพ์ Chicago Tribune และโจทย์คือตึกสูง ในปี 1922 ที่เกิดขึ้นทางฝั่งอเมริกา แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ณ เวลานั้นในอเมริกา ต่างจากฝั่งยุโรปอย่างเห็นได้ชัด ตึกสูงในอเมริกายังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบ Art Deco อยู่ เพราะฉะนั้นภาพหนึ่งที่น่าสนใจคือ ภาพของตึกสูงในอเมริกา ประมาณทศวรรษ 1890 ซึ่งเกิดขึ้นก่อน Chicago Tribune จะสังเกตเห็นได้ว่า รูปแบบตึกสูงเหล่านั้นมีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ว่าตรงนี้ส่วนฐาน / ตัว / หัว และยึดถือหลักการเหล่านี้ในการออกแบบเสมอมา หรือเรียกได้ว่ากลายเป็นแบบประเพณีนิยม ที่รับไม้ต่อมาจากรูปแบบประเพณีก่อนหน้านี้ ( neo classic ) และคิดต่อกับมันว่าถ้าเป็นตึกสูงพวกเขาควรจะออกแบบอย่างไรให้สอดคล้องกับประเพณีดั้งเดิมเพื่อให้คงความงามแบบที่พวกเขาคุ้นเคย
รูปแบบตึกสูงในอเมริกาช่วงก่อนทศวรรษ 1920 ในภาพเป็นชานชาลาแห่งหนึ่งใน Pittsburgh, Pennsylvania สร้างปี 1905
ภาพจาก : http://gizmodo.com/9-of-the-most-beautiful-buildings-we-ever-tore-down-1524596913
ส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมประกวดแบบ Chicago Tribune เป็นอย่างไรบ้าง? โดยมีทั้งงานของฝั่ง Bauhaus ที่นำโดย Gropius ซึ่งนำเสนอรูปแบบตามแนวทางของกลุ่ม Bauhaus ต่อมาเป็นงานของ Loos ผู้ที่ต่อต้านการประดับประดา แต่งานที่เขาส่งกลับเป็นรูปทรงคล้ายกับเสาไอออนิค เกลี่ยงๆ ขึ้นไป โดยออกแบบฐาน 12 ชั้นไว้อย่างเรียบเกลี่ยงเช่นเดียวกัน ส่วนชิ้นที่ได้รางวัลเป็นของ Howells และ Hood ซึ่งคนหลังคือคนที่ออกแบบ Rockefeller Center (1930-1939)ด้วย จากผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นถึงโลกของสถาปัตยกรรมในอเมริกายังคงไม่มีพื้นที่ให้กับ modernism มากพอ และไม่อาจที่จะช่วงชิงพื้นที่ได้จากความเป็นประเพณีนิยม (หัว/ตัว/ฐาน) รวมไปถึงการประดับประดาตกแต่ง และอีกส่วนหนึ่งนั่น ตึกสูงเหล่านี้ถูกกำหนดด้วยข้อบังคับทางผังเมืองในเรื่องของระยะร่นอาคาร และนำมาสู่รูปแบบอาคารที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องและเป็นไปได้ที่สุดบนที่ตั้งแห่งนั้น
ซึ่งในกรณีนี้ Agrest ได้ข้อสรุปว่า ตึกเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในตัวมันเอง แต่เกิดขึ้นจากบริบทของเมือง โดยยกกรณีเปรียบเทียบอย่าง Eiffel Tower (1887-1889)โดย Agrest เรียกมันว่า empty sign ซึ่งหมายถึง ตัวตึก หรือรูปแบบอะไรก็แล้วแต่ที่เปิดพื้นที่ให้ความหมายที่หลากหลายเข้ามาเติมเต็มอย่างไม่มีสิ้นสุด เนื่องจากตัวมันไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาจากระบบการให้สัญญะแบบเดิม กล่าวอย่างง่ายๆ คือ Eiffel Tower ไม่ได้สร้างขึ้นจากเงื่อนไขทางสังคมหรือประเพณีนิยม และที่ตั้ง(site)ก็เป็นพื้นที่ใหม่ของเมือง มันยังไม่มีประวัติศาสตร์หรือเรื่องราว นี่เป็นข้อโต้แย้งหลักและจุดยืนของ Agrest เอง
ภาพจาก :http://skyscraper.org/EXHIBITIONS/PAPER_SPIRES/chitrib01.php
ภาพจาก :http://skyscraper.org/EXHIBITIONS/PAPER_SPIRES/chitrib01.php
ภาพจาก :http://skyscraper.org/EXHIBITIONS/PAPER_SPIRES/chitrib01.php
กระโดดกลับมาที่ Eisenman และ Deconstruction พร้อมกับคำถามที่ว่าในการทำงานของเขาระหว่างช่วงแรกที่ใช้ระบบคิดแบบ poststructuralism กับช่วงหลังที่พบกับ Derrida จนกลายมาเป็น Deconstruction แตกต่างกันอย่างไร?
ช่วงแรกในการทำงานของเขา เสมือนเป็นการ “อ่าน” สถาปัตยกรรม (reading) หรืออีกอย่างคือการ re-reading การอ่านซ้ำสถาปัตยกรรม ว่าตัวตึกคืออะไร พื้นที่ใช้สอยคืออะไร เพราะฉะนั้น poststructuralism ของ Eisenman คือการอ่านซ้ำ จนกระทั่งช่วงหลังที่เขาก้าวเข้าสู่โลกของ Deconstruction สิ่งที่เขาทำคือการ “เขียน” (writing) สถาปัตยกรรม แต่การเขียนของเขามันไม่ใช่สิ่งที่เขาเขียนเอง แต่ให้คนที่เข้าไปใช้อาคารเหล่านั้นเป็นคนเขียนมันขึ้นมา ลดบทบาทของสถาปนิกลง เพราะเนื่องจากเมื่อใดที่ผู้ใช้อาคารเริ่มเขียนและให้ความหมายกับตัวสถาปัตยกรรมได้เอง ร่องรอยการเขียนของสถาปนิกก็จะเริ่มจางหายออกไปเรื่อยๆ อำนาจในการควบคุมมันจะหายไปเช่นเดียวกัน
ย้อนกลับไปทบทวน บทความของ Loos ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเศรษฐีกับสถาปนิกหนุ่ม ที่สถาปนิกเป็นคนกำหนดทุกอย่าง ว่าคุณต้องใช้สีนี้ ต้องใช้ขนาดนี้ ระยะประมาณนี้ และย้อนกลับไปอีกถึง Vitruvius ก็ตอกย้ำอีกว่าสถาปัตยกรรมต้องเรียนอะไรบ้าง 1 2 3 4 .... ทั้งหมดเหล่านี้คือรากฐานของ modernism คือการเป็น master of everything เป็นการควบคุมทั้งหมด ใครหรือสิ่งไหนไม่อยู่ใน theme ก็หลุดออกไป ไม่ถูกนับให้อยู่ในสาระบบ
แต่พอเข้าสู่กระแสความคิด postmodernism สิ่งเหล่านั้นถูกเจือจางลง เพราะมันถูกตั้งคำถามและรื้อความหมาย แต่การจะรื้อความหมายมันต้องมีคนสร้างความหมายก่อนอันดับแรก เพื่อที่ postmodernism จะได้โจมตีความหมาย และสลายมัน ทำให้เกิดความกำกวม พร่าเลือน ไม่ปะติดปะต่อ เพื่อให้บทบาทของ master มันลดต่ำลง แต่พอเป็น Deconstruction กลับไม่เชื่อความเป็น master อีกต่อไป เพราะทุกคนเป็นคนสร้างงานสถาปัตยกรรมนั้นขึ้นมาเอง และเลือกตัวสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง สถาปนิกเองเป็นเพียงแค่ผู้สร้างฉากหลัง ผู้ใช้งานกำหนดเส้นทางการเดินเอง กำหนด space เองได้
เรื่องนี้เห็นได้ชัดขึ้นในงานประกวดแบบ Parc de la Villette นับเป็นงานที่สถาปนิกหัวก้าวหน้ามารวมตัวกันมากที่สุดงานหนึ่ง ทั้ง Eisenman / Tschumi (เกิด 1944) / Rem Koolhaas (เกิด 1944) และอีกหลายๆ คน ( Zaha Hadid [เกิด 1950] ก็ร่วมงานกับ Rem ในประกวดแบบนั้นด้วย) ซึ่งมีวิธีคิดแบบเดียวกันคือ ต่างคนต่างสร้าง story ของตัวเอง อย่างในงานที่ชนะการประกวดของ Tschumi พื้นที่สวนทั้งหมดมันถูกนำ programing หลายๆ ชุดไปวางในก้อนสีแดง แล้วกระจายอยู่ทั่วที่ตั้ง(site) หรือเรียกว่า folies และตัว folies เองไม่ได้ทำหน้าที่รองรับกิจกรรมเท่านั้น แต่มันทำตัวเป็นโครงสร้างในเชิง visual ให้กับสวนด้วย หมายความว่า ตัวมันจะเป็นจุด / ขอบเขต และเส้นกริด ที่พาดอยู่ในพื้นที่สวน ฉะนั้นแล้วอะไรก็ตามที่อยู่ในกริดก็แสดงว่ากริดนั้นคุมอยู่แล้ว ผู้ใช้งานเมื่อเดินเข้าไปในกริดก็เสมือนว่าอยู่ใน Drawing Architecture เพราะสามารถตระหนักรู้เสมอว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งไหน ซึ่งทั้งหมดมีเสา และเส้นกริดพาดอยู่ มันเปิดโอกาสให้คนสามารถเดินไปตำแหน่งไหนก็ได้ ทุกคนสามารถสร้างแผนผังการเดิน สร้าง stories ของตนเองได้
Bernard Tschumi | Parc de la Villette / folies ( 1982-83 )
ภาพจาก :https://www.bloomberg.com/news/articles/2012-11-21/damien-hirst-jumping-the-shark
ในอีก 10 ปีต่อมา Tschumi ได้สร้างงานอีกชิ้นหนึ่งทับซ้อน(superimposition)ลงไปบน Parc de la Villette งานนั้นชื่อ “Firework” มันคือการเขียนเส้นบนท้องฟ้า มีการออกแบบทั้งรูปแบบ / รูปด้าน / ช่วงเวลา และจังหวะที่จะเกิดขึ้นของงานชิ้นนี้อย่างละเอียด Tschumi เป็นเสมือนผู้กำกับเวลา ณ ขณะนั้น และจึงเกิดคำๆ หนึ่งขึ้นตามมาหลังจากงานชั้นนั้น คือคำว่า “เหตุการณ์”(event) ซึ่งเป็นตัวหนึ่งที่มาแทนคำว่า “พื้นที่ใช้สอย”(function) ความหมายคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดหรือนึกถึง function มันให้ความรู้สึกที่ fixed อยู่กับที่ อย่างเช่นคำว่า นั่ง ก็คือต้องมีที่นั่ง มันคือ Architect Data ที่ถูกถอดออกมาเป็นระบบตัวเลข แต่ถ้าคุณพูดหรือนึกถึงคำว่า event ตัวอย่างเช่นว่า ห้องนี้กำลังเรียน ก็จะเป็นอีก event หนึ่ง แต่หลังจากนี้จะกลายเป็นห้องนอน หรือกลายเป็นอย่างอื่นอีก event ต่างๆ เหล่านี้จะถูกเปลี่ยนตามช่วงเวลา และ event เหล่านี้ก็สามารถถูกรองรับจาก space เหล่านี้ได้เช่นกัน แสดงว่า space ดังกล่าวไม่ fixed อยู่กับ function เดียว ลักษณะ space แบบนี้มันจึงเป็นการเรียก function ในอีกชื่อหนึ่งคือ programming
Fireworks at Parc de la Villette , Paris, 1992
ภาพจาก : http://www.tschumi.com/projects/47/
ตัวอย่างเช่น ในโรงเรียนสถาปัตยกรรมนำมาเป็นโจทย์ให้นักเรียนออกแบบ “พื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนได้ 3 อย่าง” หรือโจทย์เกี่ยกับการสร้างห้างสรรพสินค้าที่ว่า “ชุมชนนี้ต้องการอะไร?” โจทย์ใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้การอ่านเมือง การโปรแกรม หรือแม้กระทั่งการอ่านผู้ใช้ มันเปลี่ยนไปอย่างมาก ถึงแม้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นตึก แต่ตึกหลังนี้มันจะแตกต่างจากการเริ่มต้นที่ function ตั้งแต่แรก
การคิดจาก programing จะเปิดโอกาสให้เราคิดถึง user มากขึ้น เพราะถ้าเราคิดถึง function นำ เราจะคิดว่าคนใช้งานหน้าตากลมๆ ไม่มีหน้า แต่ใช้ Architect Data หรือตัวเลขต่างๆ มาคอยควบคุมการนั่ง / ยืน / เดิน แทน แต่เมื่อใดก็ตามเราคิดแบบ programing มันจะทำให้เราเข้าไปอยู่ใกล้ชีวิตเขามากขึ้น โดยเราจะพยายามอ่านเขาว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เขาเชื่อมกับอะไร เมื่อคิดแบบ programing แล้วมันเปิดโอกาสให้พื้นที่ๆ นี้กลายเป็นอย่างอื่น จากเดิมที่เป็นโรงเรียน แต่พอคิดจาก programing แล้วมันกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้
แต่ท้านที่สุดแล้ว ตัวมันเองก็จะถูกเรียกว่า function เพราะเมื่อใดที่ space มันไม่รองรับการใช้งานมันก็จะกลายเป็นเพียง sculpture ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เทียบกับพื้นที่สาธารณะกลางเมืองโคเปนเฮเก้น ออกแบบโดย BIG Architects ทั้งสองเป็นลานโล่งๆ ใครเข้ามาใช้ก็ได้ แต่วิธีคิดของทั้งสองแห่งต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลานแห่งแรกเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่าอยากได้ลานใหญ่ๆ เพื่อขับเน้นให้ตัวสถาปัตยกรรมเหล่านั้นยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม เพื่อสนองแนวคิดทางการเมืองของประเทศโลกที่สาม ส่วนลานที่สองคิดจากวิถีชีวิตผู้คนในเมือง คำนึงถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น จุดเริ่มต้นทุกอย่างคิดจาก programing มันจึงทำให้คืนชีวิตให้กับเมือง คืนความหมายที่หลายหลายลงไปในพื้นที่ทางสังคม คืนภาษาที่ถูกที่ถูกเวลาให้กับมนุษย์เพื่อใช้สื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์กับเมือง
Comments