top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนPeerapong Promchart

Housescape and Critical times : Fredric Jameson กับอะไรที่เป็นไทย

อัปเดตเมื่อ 21 เม.ย. 2565

"Postmodernism or culture logic of late Capitalism" หนังสือเล่มสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนต่อวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบ เขียนโดย Fredric Jameson บทความนี้จึงเป็นการถอดเทปที่มีการพูดคุยเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2017 เช่นกัน


พีระพงษ์ พรมชาติ : ถอดเทป และเรียบเรียง ร่วมกับ สันต์ สุวัจฉราภินันท์


april 2017




แนวคิดหลังสมัยใหม่ไม่ได้สนใจสิ่งที่เรียกว่า “ความแท้” อีกต่อไป แต่หันกลับมาให้ความสำคัญกับ humanism มากขึ้น มีมุมมองทางการเมืองโดยเฉพาะการท้าทายอำนาจเดิม การต่อกรกับองค์ความรู้เชิงสถาบัน การทดลองคือหัวใจของ postmodernism เพราะไม่มีอะไรที่ตายตัวอย่างอย่างเป็นการทดลองแทบทั้งสิ้น ดังนั้นความเป็น modernism จึงถูกตั้งคำถามอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม และทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” สืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งคอยครอบคลุมองค์ความรู้ขนานใหญ่ของมนุษย์ และทับถมกันมาเป็นพันๆ ปี อีกทั้งชุดความจริงต่างๆ เหล่านั้นยังเป็นอุปสรรคต่อการค้นหาชุดความรู้อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียน ที่ซึ่งกำหนดว่าสิ่งไหนควรนำมาสอนสิ่งไหนไม่ควรนำมาสอน สิ่งไหนนักเรียนควรรู้ สิ่งไหนนักเรียนไม่ควรรู้

ในโลกของสถาปัตยกรรมก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเต็มไปด้วยอภิมหาอรรถาธิบาย หรือ Grand narrative หรือร่มใบใหญ่ ซึ่งคอยชี้คอยกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเข้าถึงองค์ความรู้ การคัดแยกชาติพันธุ์ การกำหนดเพศสภาพ และอีกหลายๆ อย่าง จนนำมาสู่การกำหนดพื้นที่ทางกายภาพอย่าง พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ส่วนตัวในนิยามของความเป็นสมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกันแต่ละช่วงเวลาก็ยังคงมีแนวความคิด หรือกลุ่มก้อนทางความคิดบางส่วนที่คอยตรวจสอบ ท้าทาย ทิ่มแทง ร่มใบใหญ่เหล่านั้นเสมอมา

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า modernism จึงถูกต่อต้าน เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ modernism ถูกต่อต้านคือ ideology ของมันเองที่เปลี่ยนจากความงามเชิงทดลองในโรงเรียน Bauhaus ข้ามฝากมาฝั่งผู้ชนะสงครามอย่างอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนมาสู่รูปแบบของ International style ที่เป็นเหมือนตราประทับของผู้ชนะ / good man / ความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ ideology ของ modernism เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คุณค่าความงามของมันถูกถ่ายน้ำหนักไปหาความสะดวกสบาย การพาณิชย์ ความเป็นอภิมหาเมือง(metropolis) มากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง Eisenman บอกว่า modernism กลายเป็น functionalism ไปเลย และนำมาสู่การสร้างทฤษฎีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้สอนนักเรียนสถาปัตยกรรม ที่ให้จุดเริ่มต้นต้องเริ่มจากความเป็น functional เสมอ ต้องคิดจาก human scale ที่ใช้งานในห้องต่างๆ เสมอ มันคือการหลอมรวมกันของ modernism กับ functionalism ซึ่งเป็นจุดที่ Eisenman เองต้องการจะโจมตีอย่างถึงที่สุด

การที่จะทำให้เราเข้าใจจุดนี้ได้คือการกลับไปมองงานศิลปะเช่นเคย เนื่องจากศิลปะเปลี่ยนแปลงไว จบงานเร็ว เห็นภาพที่ชัดเจนกว่า ในงานของ Jameson เรื่อง “Postmodernism or culture logic of late Capitalism” (งานชิ้นนี้เขียนขึ้นในปี 1991 ซึ่งถือว่ากระแส postmodernism ค่อนข้างจะอิ่มตัวพอสมควรแล้ว) เขียนถึงตึก Westin Bonaventure Hotel and Suites ที่ Los Angeles (ตึกนี้ออกแบบโดย John Calvin Portman Jr. สถาปนิกชาวอเมริกัน สาย Neofuturistic ) โดยให้ประเด็นสำคัญไว้ 2 ประเด็นคือ หนึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของ postmodern เนื่องจากตัวมันเองไม่มีตัวเอง แต่มันเกิดจากการสะท้อนจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ สอง ทั้งภายในและนอก space ของโรงแรม ทั้งเล็กและใหญ่อยู่ซ้อนกัน กลายเป็น overlapping space





ตึก Westin Bonaventure Hotel and Suites ที่ Los Angeles สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1974-1976

ภาพจาก : https://michaelminn.net/cities/los_angeles/westin_bonaventure


สิ่งเหล่านี้ทำให้ Jameson สรุป character ของ space แบบ postmodernism ว่า (1) ไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงภาพสะท้อน (2) มันเกิดขึ้นจาก movement การเคลื่อนไหว (3) มันสะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของที่ใดที่หนึ่ง และทุกๆ ที่ไปพร้อมๆ กัน พูดอีกอย่างคือ เราจะไม่แน่ใจว่าเราอยู่ใน space แบบนี้ หรืออยู่ในspace นี้กันแน่

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดในงานของ Jameson คือ ศิลปะแบบ kitsch หรือศิลปะด้อยค่า / รสนิยมต่ำ / low art / โชว์ห่วย อะไรก็แล้วแต่ที่ถูกเมินเฉย มองข้าม ว่าไม่ใช่ศิลปะอันทรงคุณค่า อาทิเช่น ตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์รูปคนแคระทั้งเจ็ด / ตุ๊กตานางรำ / กุมารทอง / ช้างม้าใช้ถวายบูชา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกนับว่ามีคุณค่าเชิงศิลปะแต่อย่างใด ไม่เคยถูกนำไปอยู่ในมิวเซียมมาก่อน ถูกจัดให้ไปอยู่ในประเภทงานเกรดบี งานเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980-1990 จนกลายเป็นรูปแบบศิลปะของยุคสมัย ทะลายสุนทรียศาสตร์หรือความงามแบบเดิมของ modernism ลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่การก่อกวนความหมายเชิงวัฒนธรรมยิ่งถูกผลิตสร้างมากยิ่งขึ้นในงานเหล่านี้ (ผู้ที่สนใจไทยศึกษามีการตั้งคำถามกับงานเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2530-2539 ก่อนช่วงฟองสบู่แตก และนำไปเชื่อมโยงกับแนวความคิดแบบ vernacular thai หรือความคิดแบบไทยๆ อ่านเพิ่มเติมในงานของเกษียร เตชะพีระ เรื่อง “บริโภคความเป็นไทย” )





American kitsch

ภาพจาก :http://movementsindesigncfermin.blogspot.com/p/american-kitsch.html




งานที่อาจเรียกว่า kitsch แบบไทยๆ

ภาพจาก :https://notesfromcamelidcountry.net/2015/02/22/temples-of-bangkok/img_6674-2/





kitsch แบบไทยๆ

ภาพจาก :http://keywordsuggest.org/gallery/370087.html


จากนั้นกระโดดมาอีกช่วงคือ ช่วงปี 1995-2000 ศิลปะช่วงนั้นเปลี่ยนแปลงไปอีกคือ เริ่มมีเรื่องของความเป็นการเมือง มีกลิ่นอายของความเป็น DADA และ surrealism เป็นการใช้งานศิลปะพูดในเรื่องของ สิทธิมนุษยชน / สิทธิทางการเมืองของแต่ละกลุ่มความคิดที่มีอยู่อย่างหลากหลายช่วงเวลานั้น สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่คำๆ หนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในกระแสความคิดแบบ postmodernism คือคำว่า อัตลักษณ์ (identity) ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง

หรือจะเป็นศิลปะแบบ radical art หรือศิลปะแบบสุดโต่ง อย่างในงานของ Damien Hirst ศิลปินชาวอังกฤษ ซึ่งแทบทุกชิ้นงานของเขาจะมีเรื่องของความตาย ความรุนแรงอยู่ในงาน การทำให้คนเสพงานได้รับความรู้สึกช๊อค ยิ่งทำให้งานศิลปะของเขาแยกออกไปจากรูปแบบการรับรู้เดิมๆ นอกจากนั้นแล้วยังมีงานของ Tracy Emin (ทั้ง Hirst และ Emin อยู่ในกลุ่ม YBAs หรือ Young British Artists เช่นเดียวกัน) ที่มีแนวทางสุดโต่ง อย่างงานชื่อ “My bed” ที่นำเอาสภาพเตียงหรือที่นอนที่เธอใช้ทำกิจกรรมทางเพศ รวมถึงถุงน่อง ถุงยางใช้แล้ว ขวดไวน์ที่มีสภาพไร้ระเบียบมาตั้งแสดงที่ Tate Gallery กรุงลอนดอน (งานชิ้นนี้ได้รางวัล Turner ในปี 1999) มันสะท้อนว่าการผลิตงานศิลปะมันก้าวข้ามสุนทรียศาสตร์แบบ Bauhaus มาไกลมากแล้ว มันกลายเป็นเรื่องของการคุยกับผู้ชมงานศิลปะ มันเป็นเรื่องของการวิพากษ์ความเป็นการเมืองในทุกอณูทางสังคม และหากจะตอกย้ำความเป็นผลผลิตของยุคสมัยเข้าไปอีก งานชิ้นนี้ของ Emin ได้ถูก 2 ศิลปิน performance ชาวจีนคือ Cai Yuan และ Jian Jun Xi (ไม่แน่ใจว่าทั้งคู่เป็น Transgender หรือไม่) หรืออีกชื่อคือ “Made For Real” เข้าไปจู่โจม ขึ้นไปกระโดดบนเตียง โดยใช้ชื่อการแสดงว่า “Two Naked Men Jump into Tracey's Bed” เป็นการแสดงซ้อนการแสดงบนงานของ Emin อีกทีในวัลประกาศรางวัล Turner มีการใช้งานพื้นที่ศิลปะของ Emin จริงๆ ทั้งกระโดดโลดเต้น ยกขวดไวน์ขึ้นมาราดตัว ฉีกหมอนจนปุยนุ่นฟุ้งกระจาย โดยทั้งสองคนให้เหตุผลว่า “การมีปฏิสัมพันธ์เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ กับเตียงของ Emin” (หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ยังไปแสดงซ้อนกับงานคลาสสิคของ Duchamp ด้วย) มันจึงเต็มไปด้วยคำถามมากมายกับแนวทางศิลปะกลุ่มนี้ แต่สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลที่งานศิลปะเหล่านี้มีร่วมกันคือ ความเป็นการเมือง




The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living โดย Damien Hirst ในปี 1991

ภาพจาก :https://www.bloomberg.com/news/articles/2012-11-21/damien-hirst-jumping-the-shark




My bed โดย Tracy Emin ในปี 1998

ภาพจาก :http://keywordsuggest.org/gallery/370087.html



Two Naked Men Jump into Tracey's Bed โดย Cai Yuan และ Jian Jun Xi (1999)

ภาพจาก :http://amoebic.tumblr.com/post/110121047002/my-bed-tracey-emin-october-25-1999




Two Artists Piss on Duchamp’s Urinal [2000]

ภาพจาก :http://www.3ammagazine.com/3am/pissing-in-duchamps-fountain/




กลับมากันที่งานสถาปัตยกรรม Eisenman เป็นคนหนึ่งที่บอกว่า เรากำลังเข้าใจผิดระหว่าง modernism กับ functionalism ที่กำลังครอบคลุมเราอยู่ เขาจึงทำการสำรวจและพบว่า form กับ function มันมาผสมรวมกันมาตั้งแต่รูปแบบเรอเนสซองค์แล้ว ตัวอย่างเช่น ใน form ที่เป็นโบสถ์ ก็จะมี function เป็นโบสถ์ ส่วน form ที่เป็นบ้าน ก็จะมี function เป็นบ้าน เป็นต้น ทั้งสองอย่างดำเนินการควบคู่เป็นหนึ่งเดียวกัน จุดเปลี่ยนมาอยู่ที่การเข้ามาของ industrialization โดยเบื้องต้นที่เราเข้าใจกันคือมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปทรง เพราะเทคโนโลยีเหล็กกับกระจกที่เข้ามาใหม่ขณะนั้น แต่ Eisenman กลับบอกว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปทรงแล้ว industrialization ยังก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ มาสู่สังคมเมืองอีกด้วย และซึ่งยังไม่มีพื้นที่ใดๆ มารองรับกิจกรรมเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ของการประท้วง / floor เต้นรำ ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้าการเข้ามาของ industrialization สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมี ดังนั้นมันเลยต้องหาเอา form เข้าไปจับให้เข้ากับกิจกรรมเหล่านี้ ผลพลอยได้เลยไปตกอยู่ที่สถาปัตยกรรมที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดในขณะนั้นคือ modernism สุดท้ายแล้ว ตัว form ของ modernism เองก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกดูดกลืนเข้าไปเพื่อตอบสนองกิจกรรมแบบใหม่เช่นกัน


แล้ว Eisenman ทำอย่างไร?

ก่อนหน้านี้ Venturi ได้บอกว่า กรณี The Duck (ใน Learning from Las Vegas) นั้น form กับกิจกรรมทำหน้าที่เดียวกัน แต่ Eisenman กลับบอกว่าถ้าเรายังคงเดินตาม The Duck อยู่ เราก็จะไม่สามารถหนีออกจากปัญหาของ modernism ได้ เพราะ The Duck คือ Form follow Function เขาต้องการให้เราหันไปหา decorated shed ทำให้การใช้งานกับรูปแบบไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มันแยกขาดจากกัน งานที่ Eisenman ทำจึงมีการวางระบบคิดที่แยกทั้งสองส่วนออกจากกัน (ซึ่งกล่าวไปแล้วใน Deconstruction)




The Duck กับ Decorated shed ในงานของ Venturi

ภาพจาก :http://www.arcunningham.com/blog/2013/7/21/the-duck-vs-decorated-shed


จากนั้นมาที่บทความของ Demetri Porphyrios เรื่อง “Classicism : is not a style” สิ่งหนึ่งที่เป็นหอกทิ่มแทงกระแสธารความคิดแบบ modernism คือวิธีการแบบ eclecticism หรือการคัดเลือกเอาศิลปะในอดีตมาเล่น อาทิงานของ Michael Graves ฯ เป็นต้น แต่ก็มีอีกกลุ่มตั้งคำถามว่า แนวคิดกลุ่มนี้ไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่เลย เป็นเพียงการ revival กลับไปหารูปแบบจารีตเดิมเท่านั้น และข้อโต้แย้งที่กลุ่ม eclecticism ใช้คือ ก็ในเมื่อ modernism ปฏิเสธประวัติศาสตร์ กลุ่มนี้ก็ไปเอาประวัติศาสตร์กลับมาเล่าเรื่องใหม่ แต่ Demetri บอกมากกว่านั้น คือการหยิบเอาประวัติศาสตร์กลับมานั้นไม่เพียงแค่เอารูป form เดิมมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นการนำเอาการรับรู้ในแบบคลาสสิคกลับมาด้วย และบอกว่ายุคนี้เราสามารถฟุ้งอยู่กับโลกแห่งจินตนาการและความฝันได้ ดังนั้นงานของ Demetri จึงเป็นการหยิบรูปแบบงานคลาสสิคมาใช้ เพื่อให้เกิดการสร้างบรรยากาศ และภาพจินตนาการจากอดีตได้อีกด้วย



Battery Park City Pavilion (1997) โดย Porphyrios Associates

ภาพจาก : http://www.porphyrios.co.uk/project.php?id=33


หอกอีกเล่มที่จะกล่าวถึงคืองานของ Charles Jencks ชื่อหนังสือ “The Architecture of the Jumping Universe”(1997) งานของเขา base on หลักการฟิสิกส์สมัยใหม่ที่ว่าด้วยทฤษฎีควันตั้ม (quantum theory) ในขณะเดียวกันสังคมขณะนั้น (90’s) ก็กำลังตื่นตะลึงกับสิ่งที่เรียกว่า cyber space โลกของเราถูกซ้อนทับด้วยสังคมเสมือน พื้นที่จริงถูกสร้างซ้อนทับด้วยพื้นที่เสมือน เราสามารถปรากฏตัวไปพร้อมๆ กันได้ในหลายๆที่ด้วย internet เกิดการตีความใหม่ของคำว่า space / place ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเป็นโลกใหม่ ณ เวลานั้นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะมีทิศทางเดียวกันคือ เล่นกับหลักการของควันตั้มฟิสิกส์ และทำให้ Charles Jencks เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

Charles Jencks กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมีเงื่อนไขมาจาก 3 สิ่ง คือ (1) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (2) การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม (3) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ซึ่งสิ่งที่ Charles Jencks ค้นพบและเขียนลงในหนังสือคือการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สาม คือการเข้ามาของ The Net ทำให้เขาค้นพบว่ามันมีกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อม The Net เช่น เรื่อง self similarity ที่มีจุดเริ่มต้นจาก cell จุดเล็กๆ และขยายซ้ำกลายเป็น Organic form หรือเรื่องของเส้นโค้งที่เกิดจากสถานะแบบรูหนอน (worm hole) เกิดจากการบิดเบี้ยวของ space หรือเกิดจากหลายๆ มิติซ้อนๆ กันกลายเป็น collage ของ space อย่างเช่นงานของ Rem Koolhaas ที่ส่งประกวดแบบ Parc de la Villette / หรือ superimposition ในงานของ Eisenman ที่เน้นการซ้อนทับกันของความหมายในแต่ละ layer / หรือเกิดขึ้นจากการผสมกับ land form อย่างที่ Yokohama Terminal

ทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้ง Eisenman / Jameson / Demetri รวมไปถึง Charles Jencks ทุกคนล้วนสร้างกรอบทฤษฎีในการพยายามตีความเครื่องมือในการตอบโต้และโจมตีกระแสความคิดแบบ modernism ในทิศทางของตนเอง ดังนั้นมันจึงเป็นสิทธิที่ใครก็ตามจะคัดเลือกว่าอะไรคือ postmodernism และเส้นทางของการช่วงชิงความหมายเหล่านี้ยังไม่มีวันสิ้นสุด ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุกคนทุกแนวความคิดต้องหา ground ของตนเองเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเอง

ดู 71 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page